นานาสาระ  >> Life Style

แบบนี้เรียกว่าอาการย้ำคิดย้ำทำหรือเปล่า?

20 มีนาคม 2560

|

เปิดอ่าน 1277














หลายคนคงเคยรู้จักกับอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำมาบ้างแล้ว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่สงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายรึเปล่าหรือบางคนก็อาจเป็นแต่ไม่รู้ตัว วันนี้เราจึงมีข้อมูลมาเสนอเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้นของโรคและอาการบ่งชี้ของโรค เพื่อให้หลายๆ คนได้ลองสังเกตตัวเองดูว่าเข้าข่ายหรือไม่อย่างไร เพราะถึงแม้โรคย้ำคิดย้ำทำจะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตไม่น้อยเหมือนกัน

อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำแบ่งออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ อาการย้ำคิด (Obsessive) และอาการย้ำทำ (Compulsion) โดยลักษณะของอาการย้ำคิด ผู้ป่วยจะมีอาการคิดเรื่องบางเรื่องขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุ เมื่อคิดแล้วจะเกิดความกังวลใจ ไม่สบายใจ อย่างเช่นการนึกคิดว่าเมื่อสักครู่นี้ล็อครถหรือยัง ซึ่งไม่มีเหตุให้ต้องคิด แต่อยู่ๆ ก็คิดขึ้นมาเอง ส่วนอาการย้ำทำ (Compulsion) ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ ที่จะทำขึ้นเพื่อคลายความกังวลของอาการย้ำคิดที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำหลายๆ ที อย่างการกลับไปเช็ครถอีกครั้งว่าล็อคหรือยัง ก็จะกลับไปเช็คอยู่อย่างนั้นซ้ำๆ

แต่อาการย้ำคิดย้ำทำยังมีความแตกต่างจากอาการโรคจิต เพราะคนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำยังมีความเข้าใจ มีเหตุและผล สามารถอยู่กับความเป็นจริงได้ แต่ถ้าหากว่าอาการมันรุนแรงขึ้นมากๆ ก็อาจเข้าใกล้อาการของโรคจิตได้เช่นกัน อาการย้ำคิดย้ำทำมีหลายประเภท ได้แก่

1. ย้ำคิดย้ำทำชนิดเชื่องช้า ผู้ป่วยจะใช้เวลาในการทำอะไรนานๆ เช่น ถ้าอาบน้ำก็จะอาบนานเป็นชั่วโมง หรือแต่งตัวนานเป็นชั่วโมง เป็นต้น

2. ย้ำคิดย้ำทำเก็บของ คือผู้ป่วยจะไม่สามารถทิ้งของได้ หรือจะใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการคุ้ยขยะจากการเตรียมอาหารก่อนทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เผลอทิ้งอาหารที่ยังมีประโยชน์ไป

3. ย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับตัวเลข ผู้ป่วยอาจนับจำนวนตัวอักษรในคำพูดทุกคำ ทุกเวลา ที่คุยกับคนอื่น

4. ย้ำคิดย้ำทำกลัวสิ่งสกปรก ผู้ป่วยจะรู้สึกสกปรกทุกครั้งที่ถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ และจะล้างมือหรือจะอาบน้ำเป็นชั่วโมงหลังจากนั้น หรือคิดว่ามือสกปรกทั้งที่เพิ่งล้างไป

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการย้ำคิดประกอบไปด้วย 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ อาจมีการเรียนรู้มาก่อนกับสถานการณ์ทั่วไป แล้วนำไปเชื่อมโยงภายในจิตใต้สำนึกกับสถานการณ์ที่แย่และเลวร้าย ทำให้เวลาปกติก็สามารถเป็นเรื่องที่เลวร้ายได้ ส่วนอาการย้ำทำเป็นการเรียนรู้ที่ว่าถ้าทำอะไรแล้วสบายใจขึ้น ก็จะส่งเสริมให้มีการทำสิ่งนั้นเพื่อเกิดความสบายใจต่อเนื่องมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางชีวภาพ 3 ด้าน ได้แก่

1. การทำงานของสมอง โดยผู้ป่วยจะมีการทำงานของสมองเพิ่มขึ้นในส่วนของ Orbitofrontal Cortex, Cingulate Cortex, Caudate และ Thalamus ทั้งหมดนี้อาจรวมกันเป็นวงจรที่ทำงานมากกว่าปกติ ในผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ

2. ด้านระบบประสาทหรือสื่อนำประสาท พบว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติในระบบซีโรโตนิน (Serotonin) โดยพบว่ายาแก้ซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ต่อระบบซีโรโตนินนั้น มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้

3. ด้านพันธุกรรม พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับโรคย้ำคิดย้ำทำ จากอัตราการเกิดโรคนี้ในแฝดไข่ใบเดียวกันมีถึง 60-90% ในขณะที่พบในประชากรทั่วไปเพียง 2-3% เท่านั้น

ลักษณะอาการที่บ่งบอกว่ากำลังจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ได้แก่

1. อาการเป็นมากและรู้สึกว่าเลิกคิดเลิกทำไม่ได้ รู้สึกเป็นทุกข์ทรมานมาก

2. อาการเป็นมากจนทำให้เสียงานเสียการ เพราะมัวแต่ย้ำคิดย้ำทำ เช่น มัวแต่คิดว่าลืมปิดไฟที่บ้าน ทำให้ต้องกลับบ้านไปปิดไฟ โดยที่ขณะนั้นอาจเป็นเวลางาน

3. อาการต่างๆ ที่ทำให้ต้องทำอะไรที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การดื่มของมึนเมาเพื่อลดความเครียด โกรธหรือทำร้ายตัวเอง บางรายอาจซึมเศร้าจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย

สำหรับผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่รุนแรงหรือเป็นไม่มากอาจแค่รู้สึกรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง จัดว่าไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าหากปล่อยไว้จนถึงขั้นรุนแรงก็อาจส่งผลต่อชีวิตและเป็นอันตราย แนะนำว่าควรพบแพทย์หากมีอาการยาวนานเกิน 6 เดือน

วิธีการรักษา 2 วิธี

1. การทำพฤติกรรมบำบัด คือ ให้ผู้ป่วยสังเกตเวลามีความย้ำคิดขึ้นมา พยายามให้อยู่กับความคิดนั้นให้ได้แม้จะกังวล แต่ให้ห้ามตัวเองไว้ไม่ให้ไปตอบสนองกับความย้ำคิดนั้น เช่น เมื่อเกิดความรู้สึกอยากกลับไปเช็คว่ารถล็อคหรือยังแต่รู้ตัวว่าเพิ่งไปเช็คมา ก็ไม่ต้องกลับไปเช็คอีกแล้ว พยายามห้ามตัวเองให้ได้ไม่ให้ตอบสนองต่อความย้ำคิดนั้น

2. รักษาโดยการใช้ยา โดยยาที่ใช้คือยาในกลุ่มรักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์ในสารสื่อนำประสาท ที่เรียกว่าซีโรโทนิน การใช้ยาจะใช้ในขนาดที่สูงและนาน โดยให้ผู้ป่วยทานยานาน 1-2 ปี วิธีนี้สะดวกกว่าการฝึก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ยอมฝึกหรือมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรง แพทย์ก็จะให้ทานยาก่อน เมื่อทานจนอาการเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยเริ่มยอมฝึก จึงทำการบำบัดพฤติกรรมต่อไป

ที่สำคัญญาติหรือคนใกล้ชิดยังต้องให้ความร่วมมือด้วย คอยสังเกตอยู่ตลอดว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมอย่างไรและคอยควบคุมไม่ให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อความย้ำคิดที่เกิดขึ้น

 

ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/Content/35877

Share |