23 มีนาคม 2560
|
เปิดอ่าน 2855
ถ้าคุณคือคนที่ตกงาน และอยากได้งานกันอยู่..."ไทยรัฐออนไลน์" ขอแนะนำการสมัครงาน แบบมีกึ๋น มีชั้นเชิง และตรงตามที่ผู้ประกอบการต้องการ โดยเฉพาะกับ "นักศึกษาจบใหม่" ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นโน่น เป็นนี่ ทำงานอย่างนั้น ทำงานอย่างนี้ แล้วอะไรล่ะ...จะเป็นตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จในการหางาน คำตอบก็คือ "งานที่ได้ทำ" นั่นแหละ!! (อ่านเพ่ิม : อู้ฮู! เปิด 5 อาชีพ รายได้สูงสุด-ต่ำสุดในไทย)
บางคนหางานแค่ไม่กี่วัน ได้ทำงานสมใจ บางคนกินฝุ่นที่ตัวเองเดินเตะเป็นปีๆ ยังไม่มีหนทาง เอาล่ะ...ลองอ่านเทคนิคจากเอชอาร์ผู้มากประสบการณ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง และผู้บริหารบริษัทจัดหางานชื่อดังในประเทศไทย ที่ให้สัมภาษณ์กับเราตามข้างล่าง รับรอง...ทางออกนักศึกษาจบใหม่ หรือผู้ที่กำลังหางานอยู่ เปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน
เริ่มที่ "พนักงานฝ่ายบุคคล" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "เอชอาร์" ของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง (ขอสงวนชื่อนามสกุล) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรับสมัครพนักงานมือหนึ่ง เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกคนให้องค์กรใหญ่ๆ กับ "ไทยรัฐออนไลน์" ฟังอย่างละเอียดในหลายๆ เรื่อง
เอกสารบอกชื่อ-ส่วนสูง-น้ำหนัก
"เรซูเม่" เป็นเรื่องแรกที่สาวเอชอาร์เอื้อนเอ่ยขึ้น โดยเธอระบุว่า เรื่องนี้สำคัญ เพราะเรซูเม่ มันไม่ใช่แค่เอกสารที่บ่งบอกชื่อ ส่วนสูง น้ำหนัก จบมาจากที่ไหน หรือมีเพื่อน คนรู้จักในบริษัทนี้ชื่ออะไร แต่สิ่งที่เราอยากได้ คือ คุณได้อะไรมาจากการเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัย คุณได้อะไรมาบ้าง และอะไรที่คุณมีเหนือกว่าคนอื่น ในบรรดานักศึกษาจบใหม่ด้วยกัน ในระหว่างที่เรียน คุณได้พัฒนาตัวเองอย่างไร ได้ไปฝึกงานมาหรือไม่ หาความรู้เพิ่มเติมในด้านที่คุณสนใจมากไหม แล้วฝึกงานมา คุณได้อะไรมาจากที่นั่นบ้าง แล้วองค์กรของเราจะได้อะไรจากการที่คุณไปฝึกงานมา
เรื่องนี้ปัจจุบันไม่ฮิตแล้ว
เธอบอกว่า ยุคสมัยนี้องค์กรใหญ่ๆ ไม่เคยต้องการเด็กที่ทำ "กิจกรรม" มาเยอะแยะแล้ว เพราะว่ากิจกรรมไม่ได้เป็นตัวบอกอะไรได้มากนัก เราต้องยอมรับว่า วิธีคิดของเด็กสมัยนี้ มันเปลี่ยนไปแล้ว กิจกรรม ไม่ได้การันตีว่า คุณจะสามารถทำงานเป็นทีมได้เสมอไป
บอกลาเรซูเม่เดิมๆ
การใช้ภาษาหรือแบบฟอร์มแบบเดิม มันไม่น่าสนใจ เอชอาร์คนสวยพูดอย่างซีเรียส และระบุอีกว่า การเขียนเรซูเม่ ที่ใช้ภาษาบ่งบอกความมุ่งมั่น มันโบราณ มันไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับตัวตนคุณเลย และมันก็ไม่ได้แสดงให้เรารับรู้เลยว่า คุณมีของอะไร
งานสอนได้ แต่ทัศนคติสอนไม่ได้
สมัยนี้สิ่งเรายึดเป็นหลัก ในการเลือกคน คือ เราเชื่อว่างานสอนได้ แต่วิธีคิด ทัศนคติ สอนยาก บางทีอาจจะสอนไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณมีทัศนคติหรือวิธีคิดที่ดี มันได้เปรียบเห็นๆ เพราะถ้าองค์กรมีองค์ความรู้ และมีแนวทางในการพัฒนาคน หรือมีเครื่องมือที่ดีในการพัฒนาคนได้ องค์กรจะไม่กลัวคนที่ไม่เก่ง ไม่เชี่ยวชาญในอาชีพนั้นๆ
เฮ้ยนี่แหละ...มันโดนใจเอชอาร์
เราอ่านเรซูเม่เดิมๆ เราจะไม่ค่อยสนใจ แต่มีบางคนนะ ที่เขียนเรซูเม่ มาน่าสนใจมาก บางทีองค์กรไม่ได้รับตำแหน่งนั้น แต่เราก็เรียกเขามาคุย เธอบอกเหตุผลว่า สิ่งที่เขาเขียนมา มันน่าสนใจ มันดึงดูดว่า เฮ้ย…มันน่าคุยอ่ะ เชื่อไหมในเรซูเม่เขา เขาไม่เขียนประวัติตัวเองมาเลย บอกเพียงแค่ชื่อ ชื่อเล่น และเบอร์ติดต่อ จากนั้นเป็นการเล่าเรื่องในสิ่งที่ไปทำมา แถมมีพอร์ทรูปมาให้ดูด้วย ซึ่งตำแหน่งนั้นไม่เกี่ยวกับงานภาพ หรืองานกราฟิกอะไรเลย แต่สิ่งที่เขาเล่านั่นแหล่ะ บ่งบอกว่าเขาได้อะไรจากการไปลงมือทำสิ่งๆ นั้นมา
วิธีคิด อันดับหนึ่งในการพิจารณา
เราให้ความสำคัญกับวิธีคิดมาก เนื่องจากงานสอนกันได้ องค์กรไม่เคยกลัวคนไม่เก่ง แต่เรื่องนี้มันยาก มันถูกหล่อหลอมออกมา บางคนไม่เคยแสดงพฤติกรรมในด้านไม่ดี แต่ถ้าวันหนึ่งไปเจอสถานการณ์ที่รับไม่ได้ ก็อาจทำให้เปลี่ยนไปเลย และไม่อาจไม่สามารถอยู่ในองค์กรได้อีกต่อไป คนที่คิดอย่างระบบ คิดดี จึงจำเป็นมาก ที่เอชอาร์ต้องมองให้ออก
และอีกหนึ่งคน ที่จะมาแชร์เรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับหางานให้ได้อาชีพ กับ "ไทยรัฐออนไลน์" คือ "นพวรรณ จุลกนิษฐ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวไว้อย่างละเอียด ซึ่งไม่แตกต่างกับแนวคิดของเอชอาร์บริษัทดังก่อนหน้าว่า
เทรนด์การสมัครงาน
เทรนด์การสมัครงาน ณ วันนี้ จะมุ่งเน้นที่การสมัครงานออนไลน์ เนื่องจากเป็นไปตามเทคโนโลยี ที่ทำให้วันนี้ทุกอย่างง่ายลง และทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น หลังจากที่เราทำการสำรวจ พบว่า 1. กลุ่มคนตั้งใจหางาน 2. กลุ่มที่รอโอกาส ซึ่งตรงกับกลุ่มเอเชียบ้านเรา นั่นหมายรวมถึงนักศึกษาจบใหม่
เทคนิคหางาน
สำหรับเทคนิคการหางานให้ได้ทำงาน สำหรับนักศึกษาจบใหม่ นางนพวรรณ ระบุว่าไว้หลายข้อ 1. หาให้ถูกที่ คือเราต้องไปหางานให้ถูกที่ อาจต้องใช้ช่องทางทางมีเดียที่ถูกต้อง ตรงจุด เพราะหากไปผิดที่ ไปในมีเดียที่ไม่มีงานให้เห็น มันจะทำให้การหางานยากยิ่งขึ้น 2. เข้าใจตัวเอง เราต้องรู้ตัวเอง ว่ามีดีอะไร ตรงไหน อะไรคือจุดเด่นของตัวเอง และอะไรคืองานที่เราชอบ ถ้าเราเข้าใจข้อนี้ คือเราเข้าใจตัวเอง ว่ามีทักษะอะไรเด่น มีความรู้ที่ดีในด้านใด เราถึงจะไปในสเต็ปที่ 3 ต่อได้ และ 3. หางานที่เราเหมาะสม มันจะตอบโจทย์เรามากที่สุด คือเราจะมีโอกาสได้งาน ที่เหมาะสมกับเรา ได้ทำอาชีพที่เราถนัด และเราจะหลงรักในอาชีพนั้น
ว่าด้วยเรื่องของ "เรซูเม่"
เรื่อง "เรซูเม่" นางนพวรรณ บอกเราว่า มีความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ เรซูเม่ที่ดี จะต้องเขียนให้ตรงใจ เพราะในบริษัทใหญ่ๆ จะมีเรซูเม่ เข้ามาเยอะมาก บางครั้งเอชอาร์ มีเวลาในการดูเรซูเม่เพียงไม่กี่วินาที เพราะสิ่งที่เอชอาร์ต้องการและหา คือคำเฉพาะ เช่น บริษัทแห่งหนึ่งต้องการรับสมัครพนักงานโซเชียลมีเดีย ในเวลาที่จำกัดในการดูเรซูเม่ของเอชอาร์ จำเป็นจะต้องหาคำว่า "โซเชียลมีเดีย" ถ้าเรซูเม่ของคุณ มีคำนี้ นั่นคือโอกาส
หน้าตา "เรซูเม่ที่ดี"
เมื่อถามว่า "เรซูเม่ที่ดี" จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ทางผู้บริหาร จ๊อบส์ ดีบีฯ ระบุว่า เรารู้ว่าเอชอาร์อยากได้คำเฉพาะจากการดูเรซูเม่ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าคำเฉพาะคำนั้นคือคำว่าอะไร เราจะต้องไปดูประกาศโฆษณาของบริษัทนั้นๆ ว่าเขาหาใคร แค่นั้นเองเราก็จะเจอคำเฉพาะแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะเขียนในสิ่งที่ไม่ตรงกับความจริงลงไป หรือไปบิดเบือน เพื่อให้ตัวเองได้งาน อย่างนั้นคงไม่ได้ เพราะหากเข้าไปทำงาน เราเองก็ไม่สามารถทำงานในตำแหน่งนั้นๆ ได้อยู่ดี
ย้ำว่าอย่า "เลือกงาน"
บางคนอาจคิดว่า การหางานจะต้องได้งานที่มีเงินเดือนเยอะๆ ซึ่งในความเป็นจริง เราเพิ่งเรียนจบมา ไม่มีประสบการณ์ มันก็คงเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราทำงานได้ดี เริ่มมีประสบการณ์ ความสามารถเริ่มเด่นชัด เงินเดือนมันจะตามมาอย่างแน่นอน เวลาเงินเดือนขึ้น มันก็ขึ้นถึงกว่า 40% หลังจากที่เราได้ทำงานไประยะหนึ่งแล้ว ขอย้ำกับน้องๆ นักศึกษาจบใหม่ว่า อย่ามองแค่เรื่องเงิน มากกว่า "โอกาส" โอกาสนั่นแหล่ะที่ทำให้เราได้ทำงานในที่นั้นๆ
ติดดาบให้ตัวเอง
"ภาษา" โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เราต้องยอมรับว่า มันกลายเป็นทักษะพื้นฐานไปแล้ว ถ้าเราไม่ได้ภาษาอังกฤษ นั่นคือเราจะเสียโอกาสเป็นอย่างมาก แต่ถ้ายิ่งมีความสามารถในภาษาที่ 3 อย่าง จีน ญี่ปุ่น ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะดีมากขึ้น"ไอที" สมัยนี้สำคัญมาก ส่งเมล์ โซเชียล "การฝึกงาน" หรือผ่านงานมา มันก็มีความสำคัญอย่างมาก ทุกอย่างนั่นคือ "ดาบ" ในตัวคุณ
สำคัญที่สุดในการคัดเลือกคนงาน
"ทัศนคติ" เมื่อเราผ่านงานมา มันบอกได้ว่า เราผ่านการทำงานร่วมกับผู้อื่นมาแล้ว เพราะบริษัทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะใช้การทำงานเป็นทีมเป็นหลัก เรื่องทัศนคติและการทำงานร่วมกับผู้อื่นจึงมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากองค์กร ไม่ได้มองหาแต่คนเก่ง "เก่งอย่างเดียวไม่พอ" ความคิด นิสัย จริยธรรม นั่นแหละคือ ตัวตนของคุณ!
รู้ลึก รู้จริง
สุดท้ายคือนักศึกษาจบใหม่ อาจจะไม่ค่อยเข้าใจในงาน หรืออาชีพนั้นๆ เราจึงควรหาโอกาสไปศึกษา "ตลาดงาน"ก่อน เพื่อให้เราได้รู้จักตำแหน่งนั้นๆ อย่างดีเสียก่อน ก่อนที่เราจะเดินเข้าไปสมัครงาน
ร่ายมาจนจบ ทุกอย่างอยู่ที่ลองทำ "ไทยรัฐออนไลน์" ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังหางาน และนักศึกษาจบใหม่ด้วย
"ประสบการณ์" ไม่ได้มาง่ายๆ มันต้องใช้เวลานานโข เฉกเช่นกับคำว่า "โอกาส" ถ้าเรามัวแต่ปิดหูปิดตา เมื่อไหร่เราจะเจอคำว่า "โชคดี".
ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/462165