7 วิธีแก้ปวดเท้า-ปวดขา เดินเยอะ ยืนนาน มาคลายทุกความเมื่อยล้า
8 พฤศจิกายน 2559
|
เปิดอ่าน 1787
ยืนนานจนปวดส้นเท้า เมื่อยที่ฝ่าเท้า หรือเดินเยอะจนขาอ่อนล้าไปหมด มาลองวิธีแก้ปวดขา คลายกล้ามเนื้อที่เกร็งปวดเพราะยืนนาน ๆ ด้วยตัวเองกันค่ะ อาการปวดเมื่อยเท้า เมื่อยน่อง และเมื่อยขาจากการเดิน เดิน เดิน แถมด้วยการยืนอีกนานนับชั่วโมง คงสร้างความทรมานให้ร่างกายน่าดูนะคะ ฉะนั้นอย่าปล่อยให้อาการปวดเมื่อยอยู่กับเราอีกต่อไปเลยดีกว่า เพราะวันนี้เรามีวิธีแก้ปวดขา รวมทั้งวิธีคลายอาการเมื่อยล้าขาและเท้า สำหรับคนที่เดินเยอะ ยืนนาน มาให้ลองบรรเทาอาการด้วยตัวเอง1. นวดฝ่าเท้าด้วยขวดน้ำเย็น สำหรับคนที่รู้สึกปวดฝ่าเท้ามาก ๆ ลองใช้น้ำเย็นนวดฝ่าเท้าในเบื้องต้นก่อนก็ได้ค่ะ โดยวางเท้าลงบนขวดน้ำเย็นจัด แล้วใช้เท้าเลื่อนขวดน้ำไป-มา วิธีนี้จะช่วยลดอาการปวดเมื่อยบริเวณฝ่าเท้าได้ และยังอาจช่วยสลายพังผืดที่ฝ่าเท้าด้วยนะ หรือหากไม่ใช่ขวดน้ำเย็นก็สามารถใช้ลูกบอลแทนได้เช่นกัน
2. แช่เท้าในน้ำเกลือยิปซั่ม ผสมน้ำอุ่นกับเกลือยิปซั่ม (เกลือแมกนีเซียมซัลเฟต) ในอัตราส่วนเกลือ 1 ถ้วยตวงต่อน้ำอุ่น 1 กะละมัง (ปริมาณที่ท่วมหลังเท้า) นาน 30 นาที ให้แมกนีเซียมซัลเฟตและความอุ่นของน้ำช่วยคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็งและลดอาการเท้าบวมจากการยืนหรือเดินนาน ๆ จากนั้นก็อาบน้ำตามปกติ
3. พาดขาบนเก้าอี้หรือหมอน หากสามารถหาเก้าอี้สักตัวหรือพื้นต่างระดับที่เราจะสามารถพาดขาได้สูงประมาณ 45 องศาจากพื้นได้ ก็จัดเพื่อคลายอาการปวดเมื่อยขาและเท้าได้เลยค่ะ เพราะการยกขาให้สูงกว่าระดับลำตัวจะช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวกยิ่งขึ้น ช่วยลดอาการปวดบวมที่เท้าได้ และยังช่วยให้เลือดจากขากลับเข้าสู่หัวใจได้ดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้นเราก็พักเท้าสัก 5-10 นาทีไปเลย 4. แก้เมื่อยน่องด้วยท่ายืดเหยียด สำหรับใครที่รู้สึกปวดเมื่อยน่องมากเป็นพิเศษ แนะนำให้ลองท่านี้เลย โดยเริ่มจากยืนห่างจากผนังประมาณครึ่งช่วงแขน แล้วก้าวเท้าซ้ายไปใกล้ผนัง โดยให้เท้าทั้งสองข้างตั้งฉาก จากนั้นงอเข่าซ้าย แล้วใช้มือสองข้างยันผนังไว้ แล้วเหยียดขาขวาออกไปทางด้านหลังให้มากที่สุดจนขาตึง เข่าตึง ค้างไว้ 10-30 วินาที จากนั้นจึงสลับทำอีกข้าง5. นอนเอาเท้ายันกำแพง ให้นอนเอาเท้ายันกำแพง โดยให้เท้าอยู่สูงจากพื้นประมาณครึ่งเมตร แล้วกระดกปลายเท้าขึ้นสลับกันทั้ง 2 ข้าง ข้างละประมาณ 5 นาที ท่านี้จะช่วยในการไหลเวียนเลือดสะดวกยิ่งขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อเกิดความผ่อนคลายมากขึ้นไปด้วย
6. ฝึกโยคะท่ายกขาขึ้นกำแพง คนที่ใช้กำลังขาหนักหน่วง เช่น ต้องยืนนาน ๆ หรือเดินมาก ๆ ท่าโยคะยกขาขึ้นกำแพงจะช่วยบรรเทาอาการเมื่อยล้าที่ขาและเท้าได้ เนื่องจากเมื่อยกขาพาดกำแพงแล้ว ระบบเลือดที่ไหลเวียนผ่านช่วงขาและเท้าจะถูกกระตุ้นให้ทำงานสะดวกขึ้น เหล่าเส้นเลือดที่ขดเกร็งตัวจนเกิดอาการเมื่อยล้าก็จะค่อย ๆ คลายตัวลงในที่สุดนั่นเองค่ะ และนอกจากท่าโยคะยกขาขึ้นกำแพงจะช่วยแก้อาการเมื่อยขาแล้ว ยังเผื่อแผ่ประโยชน์ดี ๆ มาช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อสะโพกและช่วงหลังได้อีกด้วยนะ ส่วนวิธีฝึกก็ไม่ยากค่ะ เพียงแค่นอนหงาย ให้บั้นท้ายชิดผนัง เอาขาพาดขึ้นไปบนกำแพง โดยที่ขาทั้งสองข้างชิดกัน และให้ขาชิดกับผนัง จากนั้นวางมือหงานทั้งสองข้าง กางแขนออกเล็กน้อย และหลังแนบพื้น ทำท่านี้ค้างไว้ประมาณ 5 นาที จากนั้นก็คลายท่า แต่ถ้าใครยังสับสนกับวิธีฝึกท่ายกขาขึ้นกำแพง ก็สามารถมาดูการฝึกท่านี้อย่างละเอียดได้จากบทความด้านล่างนี้เลย - 5 ประโยชน์ของท่าโยคะยกขาขึ้นกำแพง เด็ดตรงช่วยให้ขาเล็ก ! 7. แก้ปวดขา น่อง และแก้ปวดหลังด้วยโยคะท่ายืดตัวก้มหน้า เริ่มจากท่านอนคว่ำ แยกขาให้เท่าช่วงไหล่ แล้วค่อย ๆ ดันตัวขึ้นจนสุด ให้มีลักษณะเหมือนตัว V คว่ำ โดยใช้มือและเท้ายันไว้ จากนั้นยกส้นเท้าขึ้นและวางลงสลับกันจนครบ 10 ครั้ง แล้วทำซ้ำกับขาอีกข้าง ท่านี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อส่วนหลัง ต้นขา น่อง และเอ็นร้อยหวายไปพร้อม ๆ กัน ได้รู้วิธีแก้ปวดเท้า ปวดน่อง ปวดส้นเท้าหลังจากเดินเยอะ ๆ ยืนนาน ๆ กันไปแล้ว ก็ลองนำไปบรรเทาอาการกันนะคะ และนอกจากนี้เรายังมีวิธีป้องกันอาการปวดเท้า เมื่อยขาหากต้องยืนนาน ๆ หรือเดินมาราธอนมาฝากด้วย วิธีป้องกันอาการปวดเมื่อยเท้า เมื่อต้องเดิน-ยืนนาน ๆ
1. ใส่รองเท้าที่มีพื้นนิ่มและหลวมเล็กน้อย รองเท้าที่มีพื้นนิ่มจะช่วยลดแรงกดที่เท้าได้ ส่วนการเลือกรองเท้าหลวมก็เพื่อเผื่อเอาไว้ในกรณีที่ยืน-เดินนาน ๆ มาทั้งวัน ตกเย็นเท้าอาจบวมได้
2. พักการยืนบ่อย ๆ โดยหย่อนขาข้างหนึ่ง เพื่อลดแรงกดที่เท้าข้างเดียวซ้ำ ๆ จนเกิดอาการปวดหรือบวมขึ้นได้ และพยายามสลับหย่อนขาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้นั่ง3. ยืนสลับนั่ง ในกรณีที่สามารถหาจังหวะนั่งพักได้ ก็พยายามอย่ายืนท่าเดิมนาน ๆ ให้สลับมานั่งพักบ้างเพื่อเป็นการพักขาและเท้าไปในตัว4. ย่ำเท้าเมื่อรู้สึกเมื่อย หากรู้สึกเมื่อยล้า ให้ย่ำเท้าอยู่กับที่หรือเดินไป-มา ประมาณ 2-3 นาที เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนจากขากลับเข้าสู่หัวใจดีขึ้น ป้องกันเส้นเลือดขอด
ที่มา : livestrong