ผู้หางานนั้นมักเริ่มต้นด้วยการเขียนเรซูเม่ หรือสร้างโปรไฟล์ซี่งเป็นด่านแรกในการเรียกความสนใจจากผู้ประกอบการ หรือ HR และหลังจากนั้น ก็เป็นขั้นตอนของการสัมภาษณ์งาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสื่อสาร 2 ด้าน (2 ways communication) ผู้สัมภาษณ์งานจะได้สัมผัสในหลาย ๆ มิติ หลาย ๆ แง่ของผู้หางานมากขึ้น แล้วการสัมภาษณ์งานทั้ง 8 ประเภทมีอะไรบ้าง jobsDB จะขอแนะนำ เพื่อให้ผู้หางานได้เตรียมตัวเผชิญทุกรูปแบบการสัมภาษณ์งานกันค่ะ
1. การสัมภาษณ์งานแบบดั้งเดิม สัมภาษณ์กัน 1 ต่อ 1 (The Traditional One-on-One Interview)
เป็นประเภทการสัมภาษณ์งานทั่วไปคือผู้สัมภาษณ์ 1 คน และผู้ถูกสัมภาษณ์ 1 คน ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นพนักงานฝ่ายบุคคล หรือผู้จัดการฝ่ายบุคคลเป็นผู้สัมภาษณ์ ถาม-ตอบคำถามเพื่อพิจารณาแง่มุม ความคิด ไหวพริบ และบุคลิกภาพ
คำถามที่มักถาม
บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวคุณ
ทำไมคุณถึงต้องการงานนี้
เทคนิคการเตรียมความพร้อม
สร้างเหตุการณ์สมมุติกับเพื่อน เหมือนเป็นการซ้อมก่อนการสัมภาษณ์งานจริง รวมถึงให้เพื่อนช่วยเป็นเมนเทอร์ด้วย คอยคอมเมนต์จุดบกพร่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องบุคลิกภาพ และการตอบคำถาม ถึงเวลาจริง เราจะได้ไม่ประหม่า
2. การสัมภาษณ์งานแบบกลุ่ม (The Group Interview)
เป็นการสัมภาษณ์ผู้หางานหลาย ๆ คนในเวลาเดียวกัน หนึ่งในเทคนิคที่ผู้ประกอบการใช้เมื่อบริษัทมีแผนที่จะจ้างหลาย ๆ อัตราในเวลาเดียวกัน เช่น บริษัทอาจมีนโยบายในการจัดหาทีมงานเพื่อเติมเต็มแผนกการตลาด โดยการสัมภาษณ์งานนี้ทางบริษัทจะเห็นว่าผู้หางานแต่ละคนทำงานร่วมกันอย่างไร กับบุคคลอื่น ซึ่งอาจจะเป็นว่าที่ทีมงานที่ต้องทำงานร่วมกันในอนาคต
คำถามที่มักถาม
คำจำกัดความสำหรับตัวคุณคืออะไร ที่ไม่ซ้ำกับคนในกลุ่มนี้
คุณเห็นหน้าที่บทบาทของคุณเป็นอย่างไร หากเราให้คุณทุกคนทำงานในทีมเดียวกัน
เทคนิคการเตรียมความพร้อม
โชว์ความเป็น Team spirit และความกระตือรือร้นในทุกกิจกรรม หรือคำถามจากผู้สัมภาษณ์ แสดงความเป็นคนที่ใส่ใจ มีไหวพริบ ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ และการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีร่วมกับทีม เสมือนการสัมภาษณ์งานนี้คือการทดลองทำงานร่วมกับว่าที่ทีมงานที่ต้องร่วมงานด้วยในอนาคต เตรียมพร้อมก่อนลงสถานการณ์จริง โชว์ความสามารถ และไอเดียออกมาให้เต็มที่
3. การสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ (The Phone Interview)
การสัมภาษณ์งานประเภทนี้เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่มีระยะทางเป็นอุปสรรค ไม่สามารถสัมภาษณ์งานตัวต่อตัวได้ อนึ่งยังเป็นการคัดสรรผู้หางานเบื้องต้นวิธีหนึ่งก่อนที่จะเชิญผู้หางานมาสัมภาษณ์งานอย่างเป็นทางการในครั้งต่อไป ส่วนรูปแบบของคำถามนั้นอาจจะไม่ค่อยแตกต่างจากคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์งานแบบตัวต่อตัว
คำถามที่มักถาม
คิดว่าจุดอ่อนของตัวเองคืออะไร
คุณคิดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าคุณกำลังทำอะไรอยู่
เทคนิคการเตรียมความพร้อม
อยู่ในสถานที่ที่มีสัญญาณที่ชัดเจน มีเสียงรบกวนจากภายนอกน้อยที่สุด พูดจาให้ชัดถ้อยชัดคำ เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว และมีความกระตือรือร้น ที่จะตอบทุกคำถาม เคล็ดลับคือการยิ้มด้วย แม้อีกทางหนึ่งจะไม่เห็น แต่เสียงสนทนาก็สามารถยิ้มได้เช่นกัน อีกทั้งยังแสดงถึงความมีไหวพริบ และการควบคุมอารมณ์ และสถานการณ์ได้ดีอีกด้วย
4. การสัมภาษณ์งานผ่านวิดีโอ (The Video Interview)
เป็นวิธีการสัมภาษณ์งานที่อาศัยเทคโนโลยีในการที่จะช่วยให้ได้ทำการสัมภมษณ์ผู้หางานได้ แม้จะอยู่ห่างกันแค่ไหน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมานิยมใช้โปรแกรม SKYPE ในการสัมภาษณ์งาน ซึ่งการสัมภาษณ์ก็จะเหมือนการสัมภาษณ์งานตัวต่อตัว เพียงแต่ทั้งผู้สัมภาษณ์ และผู้หางานนั้นอยู่หน้าจอคอมพ์กันทั้งคู่
คำถามที่มักถาม
สไตล์การทำงานของคุณเป็นแบบไหน
คุณมีวิธีจัดการกับความกดดันในงานอย่างไร
เทคนิคการเตรียมความพร้อม
แน่ใจว่าคุณจะอยู่ในสถานที่ที่ไม่เสียงดังจอแจ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ทคาเฟ่ หรือร้านอาหารที่มีผู้คนมากมาย ส่วนการแต่งกายนั้นก็ควรสวมใส่ชุดที่เสมือนได้เดินทางไปสัมภาษณ์งานแบบตัวต่อตัวจริง ๆ เพื่อป้องกันการผิดพลาดในกรณีที่ผู้สัมภาษณ์งานได้มองเห็นชุดที่ไม่เหมาะสม และอีกหนึ่งเหตุผลคือการดึงตัวเองให้อยู่กับการสัมภาษณ์งานที่มีความจริงจัง ตระหนักรู้ถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่
5. การสัมภาษณ์งานในมหกรรมจัดหางาน (The Career Fair Interview)
การทำการสัมภาษณ์งานในมหกรรมจัดหางานนั้นมีด้วยกัน 2 วัตถุประสงค์ด้วยกันคือ
- เป็นการคัดสรรบุคคลแบบคร่าว ๆ และรวดเร็ว ก่อนที่จะส่งตัวผู้หางานไปยังการสัมภาษณ์งานโดยละเอียดในขั้นตอนที่เป็นทางการ
- เป็นการสนองนโยบายของบริษัทที่จัดงานการสรรหาบุคคลใน 1 วัน
คำถามที่มักถาม
ทำไมคุณถึงมาที่งานนี้
อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณแตกต่าง/ โดดเด่นกว่าผู้หางานคนอื่นในนี้?
เทคนิคการเตรียมความพร้อม
ผู้หางานมีเวลาจำกัดมากในการสร้างความประทับใจ รวมถึงเวลาที่จะอธิบายถึงตัวเองว่า ทำไมตัวเองถึงเหมาะที่จะได้รับงานนี้ ซึ่งกุญแจดอกสำคัญก็คือการรู้ถึงจุดแข็ง จุดเด่นของตัวเอง และจับมันให้เข้าคู่กับความต้องการขององค์กร และสุดท้าย คุณต้องทำการศึกษาเนื้อหาขององค์กรก่อนที่จะมาสัมภาษณ์งาน จะเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุด
6. การสัมภาษณ์งานแบบให้การบ้าน หรือหัวข้อแก่ผู้หางาน (The Case Interview)
เป็นการสัมภาษณ์งานแบบพิเศษ ที่เป็นการให้สถานการณ์ หรือปัญหาต่าง ๆ เพื่อดูวิธีการวิเคราะห์ปัญหา ตลอดจนทักษะแก้ไขปัญหาของผู้หางานภายใต้ความกดดันของเวลา โดยส่วนมากนั้นการสัมภาษณ์งานประเภทนี้จะใช้กับการสรรหาบุคคลากรของธนาคาร และตำแหน่งที่ปรึกษา
คำถามที่มักถาม
สร้างแผนการดำเนินงานที่จะทำให้บริษัทก่อเกิดรายได้เป็น 2 เท่าจากปีที่แล้ว
การเปิดตัวของโค้กในปี 1985 คือความผิดพลาด และล้มเหลวของอุตสาหกรรมน้ำอัดลม คุณจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดดังกล่าวอย่างไร? และจงแสดงแผนการตลาดของผลิตภัณฑ์โซดาใหม่ล่าสุดที่จะเผยสู่สาธารณชนอย่างไร?
เทคนิคการเตรียมความพร้อม
จำให้ขึ้นใจว่าการสัมภาษณ์งานประเภทนี้สำคัญที่กระบวนการของความคิด และวิธีการดำเนินการ เท่า ๆ กับผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการ ผู้หางานควรที่จะต้องให้เวลากับกรณีศึกษาต่าง ๆ และผลที่เกิดกับกรณีนั้น ๆ อย่างละเอียดรอบคอบ และอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ประกอบกันคือการสร้างกรอบเหตุผลสัมพันธ์ (Logical Framework) ที่จะเชื่อมโยงไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ การสัมภาษณ์งานประเภทนี้ไม่มีคำตอบใดที่ถูกต้อง หรือผิดอย่างชัดเจน สำคัญที่สุดคือขั้นตอนกระบวนการที่เป็นเหตุเป็นผล และน่าเชื่อถือ
7. การสัมภาษณ์งานแนวปัญหาเชาว์ (The Brainteaser Interview)
การสัมภาษณ์งานที่จะทำให่คุณเกาหัวไม่หยุดเลยทีเดียว เพราเป็นปัญหาเชาน์ที่ชวนฉงน แต่ก็น่าสนุกดี การสัมภาษณ์งานนี้ถูกใช้ครั้งแรกที่บริษัทไมโครซอฟท์ ในการคัดกรองบุคคล และแพร่ไปยังบริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีหลาย ๆ ที่ จากนั้นองค์กรอื่น ๆ อาทิ การธนาคาร การตลาด และการเงินก็ได้นำไปปรับใช้เช่นกัน เป็นการสัมภาษณ์งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน แต่จะเป็นคำถามที่ประเมินเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา หรือการจักการกับสถานการณ์ที่ท้าทาย
คำถามที่มักถาม
คุณจะย้ายภูเขาไฟฟูจิอย่างไร?
จงอธิบายลักษระของสีแดงให้กับคนตาบอดฟัง
เทคนิคการเตรียมความพร้อม
ความลับของการตอบคำถามประหลาด ๆ เหล่านั้นคือ การไม่ตระหนกตกใจไปกับความประหลาดนั้น ใช้เวลากับการหาคำตอบโดยการคิดทีละขั้นทีละตอน ย้อนศรจากผลลัพธ์ที่อยากให้เกิด พร้อมกระบวนการคิดเชิงวิจารณญาณ และการคิดนอกกรอบ ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้ได้คำตอบจนคุณเองก็อาจประหลาดใจ
8. การสัมภาษณ์งานโดยการสร้างความกดดัน (The Stress Interview)
ลองนึกถึงสถานการณ์ในภาพยนต์ในตอนที่ตำรวจกำลังสอบสวนผู้ต้องหา ทั้งบรรยากาศในห้อง การตะโกนใส่หน้า การสอบสวนที่ดุดันเข้มข้น แน่นอนมันทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์อยู่ในสภาพกดดัน และรู้สึดอึดอัดอย่างมาก และสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากทราบก็อยู่ตรงจุดนี้นี่เอง คือปฏิกิริยาของผู้หางานที่มีต่อสถานการณ์ตรงหน้า การควบคุมตัวเอง และการคุมสติ
คำถามที่มักถาม
อะไรอะไรที่คุณคิดว่าคุณจะรอดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้
ผมไม่เห็นจะปลื้มกับเรซูเม่ของคุณเลย อะไรที่ทำให้คุณคิดว่าคุณเหมาะกับงานนี้?
เทคนิคการเตรียมความพร้อม
การเตรียมตัวนั้นไม่ต่างจากการสัมภาษณ์งานประเภทอื่น ๆ คือต้องตั้งสติให้ดี ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้มาก ใช้สมองลำดับขั้นตอนกระบวนการอย่างมีระบบ และจงจำไว้ให้ขึ้นใจว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเพียงการสัมภาษณ์งานประเภทหนึ่งที่ต้องการทราบปฏิกิริยาของผู้ถูกสัมภาษณ์เมื่ออยู่ใต้สภาพความกดดันมาก ๆ อย่าเอาอารมณ์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง
การเตรียมพร้อม หรือทำการบ้านก่อนการไปสัมภาษณ์งานเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้หางานอาจไม่มีโอกาสได้เจอทุกประเภทของการสัมภาษณ์งานก็จริง แต่การที่ได้ทราบจุดเด่นของแต่ละประเภทก็จะทำให้รู้ว่าต้องจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้าอย่างไร รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้งค่ะ แต่ก่อนเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน อย่าลืมสร้างโปรไฟล์ให้เตะตาโดนใจผู้ประกอบการก่อนนะคะ