2 มีนาคม 2560
|
เปิดอ่าน 2109
เลือกที่ทำงานอย่างผู้เชี่ยวชาญ
1.อย่างแรกในการเลือกที่ทำงานก็คือดูจาก ชื่อเสียงและความมั่นคงก่อนเป็นอย่างแรก ข้อนี้เป็นข้อที่ผู้สมัครงานจะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เพราะถ้าทำงานในบริษัทที่มั่นคงแล้วผู้สมัครก็วางใจได้ว่าบริษัทนั้นๆจะไม่ล้มได้ง่ายๆ และผู้สมัคร ก็จะมีหน้าที่การงานที่มั่นคง
2.สวัสดิการและรายได้ บางบริษัทให้เงินเดือนดี แต่สวัสดิการไม่ดีหรือบางบริษัทเงินเดือนน้อยแต่สวัสดิการดี ผู้สมัครต้องเปรียบเทียบว่าสิ่งไหนที่ผู้สมัครต้องการในแต่ละบริษัท และตัดสินใจว่าควรสมัครงานที่ไหนดี
3.สิ่งแวดล้อมในการทำงาน ที่ทำงานบางที่อาจมีแค่เพียงโต๊ะ,เก้าอี้ เครื่องอำนวยความสะดวกเพียงเล็กน้อย แต่ที่ทำงานบางที่ อาจมีเครื่องอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์เครื่องใช้อย่างครบครัน และบรรยากาศรอบๆก็ดีอีกด้วย ผู้สมัครจะต้องพิจารณาดูว่า สิ่งแวดล้อมนั้นมีอิทธิพลต่อการปฎิบัติงานของผู้สมัครเพียงใด
4.ระยะทางในการทำงาน ไม่ควรเลือกที่ทำงานที่ไกลจากที่พักมากนัก เพราะจะทำให้มีปัญหาต่อการปฎิบัติงานได้
***************************************
เตรียมทำการบ้านก่อนไปสัมภาษณ์งานหรือยัง
ในการสัมภาษณ์งานแต่ละครั้ง ลองถามตัวคุณเองว่าคุณมีความรู้เกี่ยวกับบริษัทที่คุณจะไปสัมภาษณ์มาก-น้อยแค่ไหน คุณคงทำให้ใครเชื่อไม่ได้ว่าคุณอยากจะร่วมงานด้วย ถ้าคุณไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของบริษัทนั้นเลย ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่คุณจะไปสักนิด แล้วคุณจะรู้ว่าการบ้านที่คุณได้ทำไปนั้น มันทำให้คุณมีคุณค่าในสายตาของผู้สัมภาษณ์อย่างมากมาย
1.บริษัทมี services หรือ product อะไรบ้าง
2.Niche market ของบริษัทอยู่ตรงไหน
3.ใครเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่
4.ประวัติความเป็นมา
5.ใครเป็นผู้บริหารสูงสุดขณะนี้
6.วัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไรบ้าง
7.บริษัทมีพนักงานประมาณกี่คน สัดส่วนคนไทย/ต่างชาติเท่าไหร่
8.ผลประกอบการเป็นอย่างไร
9.บริษัทมีสำนักงานใหญ่ สาขาที่ใดบ้าง
***************************************
ข้อควรระวังในการกรอกใบสมัครงาน ข้อที่ต้องระวังในการกรอกใบสมัคร บันไดขั้นแรก ๆ ที่จะนำไปสู่การมีงานทำก็คือใบสมัครนี่แหละ ถ้ารู้จักวิธีที่ถูกต้องในการกรอกใบสมัคร รวมทั้งให้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์มากที่สุด จะทำให้มีโอกาสมากในการผ่านการคัดเลือกในรอบแรก ได้เข้าไปสู่รอบต่อไป จนกระทั่งได้งานทำ
มีใบสมัครจำนวนไม่น้อยที่ถูกคัดออก เพราะไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ถ้าการไม่ผ่านเกณฑ์นี้เป็นเพราะขาดคุณสมบัติเหมาะสม แต่ถ้าถูกคัดออกทั้ง ๆ ที่มีคุณสมบัติเหมะสม แต่การกรอกใบสมัครไม่ได้ให้รายละเอียดอย่างชัดเจนครบถ้วน หรือเป็นเพราะลายมืออ่านยากจนกระทั่งผู้ที่พิจารณาใบสมัครไม่เข้าใจ หรือแปลความผิด อย่างนี้น่าเสียดายมาก
เพื่อไม่ให้พลาดการพิจารณาการกรอกใบสมัครจึงต้องให้ความสำคัญ และระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้
ลายมือ ถ้าเป็นการสมัครงานทางจดหมายคงหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้เพราะใช้พิมพ์ดีดหรือคอมพิวเตอร์แทนลายมือได้ แต่สำหรับการกรอกใบสมัครไม่มีโอกาสเลี่ยงได้ ยกเว้นในบริษัทบางแห่งที่ให้กรอกใบสมัครโดยการป้อนข้อมูลในคอมพิวเตอร์
** ข้อที่ต้องระวังในเรื่องลายมือ คือ ต้องเขียนให้อ่านง่าย บางคนลายมือสวยแต่อ่านยาก เช่น เขียนตัวหนังสือเล่นหาง ดูผิวเผินรู้สึกว่าสวย แต่เมื่อตั้งใจอ่านบางคำจะอ่านไม่ออก บางคนลายมือไม่สวยแต่อ่านได้ง่าย อย่างนี้ดีกว่าในการกรอกใบสมัคร
* ตั้งใจเขียน คนที่ตั้งใจเขียนใบสมัครแสดงถึงความจริงจังในการมาสมัครงาน และแสดงว่าเป็นคนปราณีต มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการทำงาน
* เวลากรอกใบสมัครไม่ต้องรีบจนเกินไป เนื่องจากการรีบเร่งทำให้เขียนผิด ต้องมีการขูดฆ่าขีดลบจึงทำให้ ใบสมัครไม่เรียบร้อย ดูเป็นการไม่ตั้งใจในการสมัครงาน
ความละเอียดรอบคอบ การให้ข้อมูลที่ผิดพลาดในใบสมัคร ทำให้เสียโอกาสที่จะได้ทำงาน จึงต้องระมัดระวังทำความเข้าใจคำสั่งก่อน โดยทั่วไปเมื่อได้แบบฟอร์มมามักจะกรอกข้อมูลไปทันที ตั้งแต่ช่องแรกของหน้าแรก โดยไม่ได้ดูแบบฟอร์มนั้นให้หมดเสียก่อน ใบสมัครบางแห่งมีข้อความระบุไว้ในตอนต้นใบสมัครว่า หากใช้ภาษาอังกฤษได้ขอให้เขียนด้วยภาษาอังกฤษแทน ก็มักพบเสมอว่ามีเขียนด้วยภาษาไทยไปก่อน เมื่ออ่านเจอคำสั่งจึงขีดฆ่าภาษาไทยและเขียนภาษาอังกฤษแทน
ในช่องประวัติการศึกษาหรือประวัติการทำงาน ก็เป็นอีกตอนหนึ่งซึ่งผู้สมัครที่ขาดความละเอียดในการทำความเข้าใจคำส่งจะทำผิดเสมอ บางบริษัทกำหนดว่าให้เริ่มจากหลังสุดก่อน ถ้าเป็นการศึกษาก็คือเริ่มจากสถานศึกษาล่าสุดก่อน แล้วย้อนขึ้นไปตามลำดับจนกระทั่งถึงแห่งแรก บางบริษัทกำหนดให้เริ่มจากแห่งแรกมาจนถึงปัจจุบันหรือล่าสุด เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้ว ขอให้ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง แม้ว่าจะมีความผิดพลาดในการกรอกใบสมัคร แต่ถ้าตรวจดี ๆ ก็จะพบและแก้ไขได้ก่อนที่จะส่งใบสมัคร พยายามให้ข้อมูลให้มากที่สุด
การสัมภาษณ์ เป็นโอกาสดีที่จะแสดงความสามารถหรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณา ความเหมาะ สมของผู้สมัครแต่ก่อนที่จะมีการสัมภาษณ์ ใบสมัครจะเป็นด่านแรก หากให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอหรือไม่เสนอข้อมูลที่น่าสนใจ ด่านแรกก็คงจะผ่านไปไม่ได้ บางคนไม่ค่อยชอบเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จบในด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ดังนั้นใบสมัครจึงค่อนข้างว่าง ส่วนของช่องการศึกษาที่ให้กรอกข้อมูลว่าจบการศึกษาวุฒิอะไรและจบจากสถาบันไหน มีคนหนึ่งเขียนเพียงว่า ตรี สั้น ๆ เพียงคำเดียวเท่านี้และไม่บอกชื่อสถาบันที่จบมาด้วย
ผู้สมัครบางคน แม้ว่ามีคุณสมบัติบางข้อไม่ตรงตามกำหนดไว้ แต่ด้วยการจัดทำเอกสารประกอบสมัครอย่างดี มีข้อมูลที่น่าสนใจ และมีความตั้งใจทำอย่างพิถีพิถัน ก็ทำให้ได้รับการพิจารณาเรียกมาสัมภาษณ์ ส่วนบางคนค่อนข้างแน่ใจว่ามีข้อดีจุดเด่นมากกว่าเพื่อน ๆ ร่วมรุ่น แต่กลับไม่ได้รับโอกาสเรียกไปสัมภาษณ์ ทดสอบ สาเหตุอาจจะมาจากข้อผิดพลาดในการกรอกใบสมัครก็เป็นได้
***************************************
สมัครงาน ควรระบุเงินเดือนเท่าไหร่ดี การระบุจำนวนเงินเดือนที่ต้องการ เป็นอีกปัญหาของคนที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน บริษัทที่เราต้องการสมัครไม่ได้ระบุฐานเงินเดือนไว้ ทำอย่างไรดี? หากนึกถึงรุ่นพี่ ญาติ หรือเพื่อนๆ ที่เคยผ่านช่วงเวลานี้มาแล้ว แต่ละคนก็ได้เงินเดือนไม่เท่ากัน เช่น รุ่นพี่ที่ทำงานเป็นนักข่าวสายบันเทิงของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ได้เงินเดือน 13,000 บาทต่อเดือน ญาติที่ทำงานเป็นเลขาให้บริษัทต่างชาติได้เงินเดือน 23,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น การเรียกเงินเดือนนั้น ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพราะความสามารถของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน และการเรียกเงินเดือนในตลาดแรงงานนั้นมีโอกาสที่จะขยับเพิ่ม หรือลดได้ตามปัจจัยต่างๆ เช่น ความสามารถของตัวผู้สมัครเอง ความเหมาะสมของตำแหน่งงาน และรายได้ของบริษัท ซึ่งการระบุเงินเดือนที่ต้องการนั้นเราควรพิจารณาตามความสามารถ และความเป็นไปได้ของลักษณะงานนั้นๆ สำหรับการเรียกเงินเดือนนั้นส่วนใหญ่จะมี 2 แบบ คือ
1.กำหนดอัตราเงินเดือนที่ต้องการด้วยตัวเอง จะเป็นการกรอกตัวเลขของเงินเดือนที่เราต้องการ อาจระบุเป็นเงินเดือนแบบตายตัว เช่น 10,000 บาท หรือ 15,000 บาท หรืออาจระบุเป็นช่วงเงินเดือน เช่น 10,000 – 15,000 บาท ซึ่งตัวเลขที่เรากรอกไปนั้น ต้องอ้างอิงกับฐานข้อมูลที่ขอไม่ต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์มาตราฐานในตลาดแรงงานมากนัก
2.ระบุตามโครงสร้างเงินเดือนของบริษัท การระบุเงินเดือนแบบนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งตัวเองและบริษัท หากผู้สมัครทั้งหมด 3 คนซึ่งแต่ละคนความสามารถใกล้เคียงกัน และมี 1 คนที่ระบุเงินเดือนอัตราเดียวกับโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทนั้นๆ บริษัทก็คงลือกคนๆ นี้มาสัมภาษณ์อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คุณจะระบุเงินเดือนที่ต้องการได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของคุณด้วยว่า คุณพอใจในตัวเลขนั้นหรือไม่ และพอใจงานตำแหน่งนั้นมาก-น้อยเพียงใด ควรที่จะตอบตัวเองให้ได้ ก่อนที่จะตัดสินใจกำหนดอัตราเงินเดือนที่ต้องการลงไปในใบสมัคร เพราะหากผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเงินเดือนที่ระบุมานั้นมากเกินไป ผู้สมัครอาจจะถูกปฏิเสธทันที แต่ถ้าหากตัวเลขนั้นไม่ห่างจากที่บริษัทสามารถให้ได้ ก็อาจจะมีการเรียกสัมภาษณ์และเจรจาต่อรองกันภายหลัง
***************************************
คุณทำตัวน่ารำคาญระหว่างสัมภาษณ์งานหรือไม่? หลังจากได้พูดคุยกับ HR มืออาชีพ เพื่ออธิบายถึงสิ่งที่ HR พบบ่อยครั้งและคิดว่าเป็นข้อผิดพลาดของผู้สมัครงาน ผมพบข้อสังเกตเด่นๆที่น่าสนใจหลายข้อ อาทิเช่น HRพบว่าส่วนใหญ่ “ผู้สมัครขาดความรู้เกี่ยวกับองค์กร หรือตำแหน่งงานที่ตนสมัครเอาไว้” ประเด็นที่พบบ่อยอีกอย่างคือ “ขาดการเตรียมตัวและไม่มีความพร้อมที่จะพูดเกี่ยวกับแผนอาชีพและเป้าหมายของตนเอง” ข้ออื่นๆก็มีเช่น “ขาดความกระตือรือร้น” ข้อนี้แหละเป็นเหตุผลหนึ่งของHR จะตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัครได้ง่ายขึ้น แล้วคุณล่ะ…ถึงเวลาปรับปรุงตัวอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อสัมภาษณ์งานได้อย่างสำเร็จ
ก่อนการสมัครงาน ศึกษาองค์กร เข้าไปชมเว็บไซต์ขององค์กรหรือบริษัทนั้นๆ อ่านพันธกิจและเป้าหมายของบริษัท รวมทั้งประวัติการเงินในอดีต พินิจพิเคราะห์โฆษณาต่างๆที่พบ เพื่อประเมินการทำตลาดของบริษัท เจาะให้ลึกถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการที่นำเสนอ ตลอดจนตรวจดูว่าสื่อมวลชนกล่าวถึงบริษัทนี้ในแง่ใดบ้าง ควรที่จะเยี่ยมชมสาขาและหยิบแผ่นพับที่มีข้อมูลนำเสนอมาอ่าน เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจนั้นๆ
หลีกเลี่ยงการสมัครงานมั่วๆ ทราบหรือไม่ว่า…มีแนวโน้มสูง ที่คุณจะได้รับคำปฏิเสธหรือไม่ได้รับการตอบกลับ หากสมัครงานแบบมั่วๆ อย่าลืมว่าตอนนี้ในตลาดงานมีจำนวนคนหางานมากกว่าตำแหน่งงานที่เปิดรับ จึงเป็นโอกาสของนายจ้างที่มีสิทธิ์เลือก ฉะนั้นก่อนสมัครควรสำรวจดูว่าในตลาดงานมีตำแหน่งอะไรบ้างที่เปิดรับ พร้อมประเมินตนเองดูว่ามีคุณสมบัติพอที่จะได้รับการพิจารณาหรือไม่ เพราะยิ่งถูกปฏิเสธมากคุณจะยิ่งติดลบห่อเหี่ยวและท้อใจตามมาอย่างแน่นอน
ก่อนการสัมภาษณ์ หากถูกเรียกสัมภาษณ์ จงเตรียมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด เพราะผู้สัมภาษณ์มักงัดเอาเทคนิคใหม่ๆมาใช้ในการคัดเลือก เช่น ใช้คำถามหนึ่งโยงไปสู่หลายๆคำถามในการสัมภาษณ์ เพื่อเช็คความเที่ยงตรงของคำตอบ ดังนั้นอย่าไขว้เขวและอย่าโกหก เพราะบางครั้งก็ไม่มีคำตอบที่ถูกและผิดสำหรับคำถามบางข้อ เตรียมคำถามที่จะถามกลับระหว่างการสัมภาษณ์ นี่เป็นโอกาสของคุณ ควรตั้งคำถามที่สามารถสื่อถึงข้อมูลการศึกษาที่คุณค้นคว้ามา ตลอดจนความเข้าใจต่อองค์กรหรือบริษัท ให้เขารู้ว่าคุณเตรียมตัวมาสมัครงานและสนใจในบริษัท มีความคล่องแคล่วและว่องไวต่อสิ่งต่างๆ แต่อย่าโอ้อวดหรือแสดงออกว่าเก่งหรือฉลาดจนเกินไป
ระหว่างการสัมภาษณ์ ฟังคำถามอย่างระวังรอบคอบ คือต้องฟังผู้สัมภาษณ์อย่างตั้งใจและควรคิดไปด้วยว่าเราจะตอบอย่างไร ควรสบตากับผู้สัมภาษณ์และควรใช้ภาษาท่าทางประกอบบ้าง เช่น พยักหน้าแสดงความสนใจในสิ่งที่เขากำลังพูดถึง หลีกเลี่ยงอาการหยุกหยิกอยู่ไม่สุข หากไม่เข้าใจคำถาม ควรขอให้ผู้สัมภาษณ์อธิบายเพิ่ม เพื่อให้เราสามารถตอบได้ตรงตามความเข้าใจ ไม่ควรถามซ้ำๆหลายครั้งเหมือนเป็นคนไม่ฉลาด
ตอบคำถามอย่างกระชับ เน้นใจ ความหน้าที่ของคุณตอนนี้คือแสดงตัวตนให้ผู้สัมภาษณ์รู้ว่าเรามีทักษะ ความรู้ ทัศนคติ ความถนัด และมีคุณลักษณะตรงตามที่เขาต้องการ โดยต้องแน่ใจว่าคำตอบของคุณ มีความชัดเจนเพียงพอและไม่สื่อความหมายผิดไปจากที่ตอบ
จงอย่ากลัวที่จะขอสิ่งที่คุณต้องการ หากต้องการงานดีๆแต่เงินเดือนไม่เหมาะสมกับค่าเหนื่อย ก็ควรที่จะเจรจาต่อรองบนพื้นฐานความสมเหตุสมผล โดยคุณต้องทำการบ้านมาก่อน ด้วยการวิเคราะห์ว่าจะคุ้มหรือไม่ และต้องศึกษาศักยภาพของบริษัทว่าจะสามารถจ่ายค่าแรงคนเก่งอย่างเราได้แค่ไหน อย่าลืมว่าบางครั้งนายจ้างที่มีศักยภาพก็อาจประสบปัญหาด้านการเงินได้บ้าง จึงยากที่จะจบหรือลงเอยตามความต้องการของคุณ คิดอย่างผู้ประกอบการ เมื่อถึงเวลาเจรจาต่อรองเงินเดือนและผลประโยชน์ ควรขจัดความคิดจากวิธีคิดแบบต้นทุนบวกกำไร ที่เป็นการมุ่งเน้นเพื่อตัวเองเป็นสำคัญมาใช้วิธีคิดแบบเจ้าของธุรกิจ โดยคิดแบบนำราคาหักต้นทุนจะดูเหมาะสมกว่ามาก เพราะเป็นการแสดงว่าคุณคิดถึงบริษัทที่จะไปทำงานมากกว่าตนเอง
จาก….กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น โดยปนัฎดา สังข์แก้ว
ที่มา : www.job.rmutt.ac.th/?p=95