นานาสาระ  >> Job Tips

กลเม็ดมัดใจฝ่ายทรัพยากรบุคคลและนายจ้าง (ใหม่)

26 ธันวาคม 2554

|

เปิดอ่าน 3244

กลเม็ดมัดใจ Head Hunter และนายจ้าง (ใหม่)

ในแต่ละปีมีนิสิต นักศึกษาจบใหม่ๆ นับหมื่นนับแสนคน ถึงคราวที่ต้องวิ่งหางานกันจ้าละหวั่น ในขณะที่บางคนที่มีงานทำแล้วก็อยากเปลี่ยนงาน ...

ทำให้เกิดการช่วงชิงตำแหน่งเพื่อให้ได้งาน ดังนั้นกลเม็ดในการสร้าง “ความประทับใจ”ให้กับฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทที่จะสมัคร ซึ่งความประทับใจดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

JOBJOB - กลเม็ดมัดใจ Head Hunter และนายจ้าง (ใหม่)อรุณี เกษตระทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัทจัดหางาน เอเอ ทาเลนท์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ระดับคุณภาพในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้คำแนะนำการส่งใบสมัครงานให้มัดใจว่า ใครที่ผ่านประสบการณ์การสมัครงานมาแล้ว คงจำได้ถึงความตื่นเต้น กังวล ว่าคุณสมบัติ ความสามารถต่างๆ ของตนเองที่เขียนลงไปในใบสมัครนั้นจะเข้าตานายจ้างมากน้อยแค่ไหน เพราะหากเตรียมตัวดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่งในการสมัครงาน สำหรับเด็กจบใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน หรือผู้ที่กำลังมองหางานใหม่อยู่ แต่ยังไม่มั่นใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรให้ได้รับความสนใจจากนายจ้างหรือหน่วยงานที่ต้องการสมัคร เลิกกังวลกันได้ เพราะวันนี้มีคำแนะนำและทริกดีๆ จาก “หญิงเหล็กแห่งแวดวง HR” มาฝากกัน

“ด้วยความที่เราทำงานด้านนี้มากว่า 32 ปีก็เห็นอะไรมาค่อนข้างเยอะ สิ่งที่อยากแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังหางาน ก็มีอยู่หลายข้อด้วยกัน เรียกว่าเป็นการปฏิบัติตัวเบื้องต้น และแสดงศักยภาพของตัวเราเอง เพื่อให้ได้รับความสนใจจากนายจ้างดีกว่า เริ่มจากขั้นตอนแรกเลย คือ การเขียนจดหมายสมัครงาน (Application Letter) ควรจะสั้นแต่กระชับ และได้ใจความสำคัญครบถ้วนซึ่งไม่ควรจะเป็นเรื่องราวที่มีอยู่แล้วใน Resume จดหมายแนะนำตัวที่ดีและมีคุณภาพจะดึงดูดความสนใจของ HR Manager ของนายจ้างหรือหน่วยงานที่จัดหา มากพอที่จะสร้างความต้องการที่จะขอสัมภาษณ์คุณแบบตัวต่อตัว”
อรุณีขยายความโดยจำแนกเป็นข้อๆ ว่า

1.ประวัติย่อผู้สมัครงาน (Resume) ที่ถูกต้องจะต้องรวมประวัติที่น่าสนใจ ให้กระชับแม่นยำ การเรียงลำดับของการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

2.สำหรับเรื่องระดับการศึกษา ประวัติส่วนตัว รวมถึงงานอดิเรกนั้นเป็นเรื่องที่สามารถดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ต้องระวังอย่าให้น้ำหนักมากกว่าเรื่องอาชีพและรายละเอียดความสำเร็จของผู้สมัครเอง

3.ให้ท่องให้ขึ้นใจว่า นายจ้างหรือหน่วยงานจัดหางานจะมองหาประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องในตำแหน่งงานนั้นๆ ตามที่ได้ระบุไว้ใน Resumeเป็นอันดับแรก มีผู้สมัครบางคนมองข้ามการใส่ข้อมูลสำคัญ

4.สำหรับติดต่อขั้นพื้นฐาน เช่น อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ หรือแม้แต่ชื่อ และนามสกุล ดังนั้นควรใส่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้มั่นใจว่านายจ้าง หรือหน่วยงานที่สมัครจะรู้ว่าเราเป็นใคร และสามารถติดต่อได้อย่างไรให้ชัดเจน

5.ไม่ควรเปิดเผยรายละเอียดเงินเดือน เช่น หากคุณรู้ว่าเงินเดือนที่ได้รับนั้นอยู่ในฐานเงินเดือนในระดับ 90% ของตำแหน่งอาชีพนั้นๆ เพราะอาจทำให้บริษัทที่คุณส่งใบสมัครไปนั้นรู้สึกว่าเงินเดือนของคุณสูงเกินกว่าที่เขาจะสนใจ ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของคุณเองในการจะได้รับโอกาสเรียกสัมภาษณ์ และในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณแน่ใจว่าเงินเดือนของคุณต่ำกว่าฐานเงินเดือนในตลาด คุณก็ควรที่จะเปิดเผยฐานเงินเดือนของตัวเองและสวัสดิการที่ได้รับเป็นเงินสด เช่น โบนัสปลายปี เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็จะสามารถทำให้คุณได้มีโอกาสนัดสัมภาษณ์จากนายจ้างหรือหน่วยงานต่างๆ แล้ว

หลังจากส่งใบสมัครไปแล้ว ต้องติดตามผลการสมัครอย่างกระชั้นชิด ที่ผู้สมัครงานมือใหม่มักไม่แน่ใจว่าควรมีการติดตามผลอย่างไรถึงจะเหมาะสม “มีหลายคนเคยถามดิฉันว่า เมื่อเราสมัครงานแล้ว ควรโทร.ไปถามผลการสมัครงานหรือไม่ อยากแนะนำว่า หลังจากที่ส่งจดหมายสมัครงานไปแล้ว หน่วยงาน และนายจ้าง ก็จะมีชื่อของคุณเป็นเพียงชื่อในกระดาษเท่านั้น คุณสามารถโทรศัพท์ไปติดตามผลได้เพื่อเป็นการแนะนำตนเอง เพื่อที่นายจ้างใหม่หรือบริษัทจัดหางานจะได้คุ้นหูกับชื่อของคุณ ทั้งนี้ การติดตามนั้นควรจะโทร.ติดตามเพียงครั้งหรือสองครั้งก็พอ เพราะถ้ามากกว่านั้นอาจทำให้บริษัทนั้นเกิดความรู้สึกไม่ดีว่าเรารุกจนเกินไปค่ะ”

นอกจากขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้แล้ว กลเม็ดอีกอย่างที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สมัครคือ การขอรับการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว วัตถุประสงค์ของการขอรับการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวเป็นการผูกหรือเน้นย้ำหน้าตาของเรากับชื่อในใบสมัคร ให้นายจ้างและหน่วยงานเกิดความจดจำเกี่ยวกับตัวคุณ แต่ต้องไม่ลืมเผชิญความจริงที่ว่า คำขอนี้มักจะไม่ได้ผล หากการเตรียมตัวตั้งแต่ขั้นตอนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมดไม่ดีพอ

“เพราะขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นได้หากขั้นตอนต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเลือกสมัครในตำแหน่งงานที่มีความต้องการเกี่ยวโยงถึงความสามารถและความถนัดในการทำงานที่เหมาะสม ตรงกับประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของคุณ คำแนะนำง่ายๆ คือ ให้คุณลองสำรวจตัวเองและถามตัวเองว่า ถ้าฉันเป็นนายจ้าง ฉันจะจ้างผู้สมัครเช่นตนเอง สำหรับตำแหน่งที่ว่างนี้หรือไม่” มืออาชีพแห่งแวดวง HR ทิ้งคำถามไว้อย่างให้แง่คิด

 

ข้อมูลโดย :

 

ที่มา : PostToday

Share |