นานาสาระ  >> Entertainment

เปิดมุมความคิด "ปู ไปรยา" จากดาราฉาวรายวัน..สู่นางฟ้าของผู้ลี้ภัย

21 มีนาคม 2560

|

เปิดอ่าน 1682









หลายๆ คนสงสัยว่า ตำแหน่งทูตสันถวไมตรี UNHCR มีเกณฑ์การคัดเลือกแต่งตั้งอย่างไร ทำไมนักแสดงสาว "ปู ไปรยา สวนดอกไม้" ถึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNCR) คนแรกของเมืองไทยและคนแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นี่คงจะเป็นการตั้งคำถามของคนทั่วไปที่ไม่เคยรู้เรื่องราวของ "ปู ไปรยา" นักแสดงสาวที่ทำงานกับ UNHCR มาแล้วเป็นเวลา 3 ปี งานอาสามาสมัครที่ทำโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และร่วมบริจาคเงินให้ UNHCR ต่อเนื่องทุกเดือนนับตั้งแต่ที่เธอรู้จักและเข้าร่วมงานกับองค์กรนี้และมุ่งมั่นว่าจะทำงานอาสาไปตลอดชีวิต 


"จริง ๆ ปูทำงานให้หลายองค์กรมาก่อน นอกจาก UNHCR ปูทำงานให้ Operation Smile วัดพระบาทน้ำพุ และ อัลฟ่า (ALFA) ทุกองค์กรปูสมัครเข้าไปเองหมดเลย สำหรับ UNHCR เริ่มจากปูเห็นข่าวผู้ลี้ภัยในซีเรีย เห็นภาพตอนนั้นเด็กที่หนีจากประเทศตัวเอง ภาพเด็กอยู่บนเรือ เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก ตอนนั้นน่าจะประมาณเที่ยงคืนกว่า ปูก็เขียนอีเมล์เข้าไปหา UNHCR แนะนำตัว สวัสดีค่ะ ชื่อไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทำงานอยู่ช่อง 7 เป็นนักแสดง อ่านข่าวเกี่ยวกับซีเรียและโรฮิงญาแล้วรู้สึกเศร้า อยากจะมีส่วนร่วม อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนเหล่านี้มีชีวิตที่ดีขึ้น"


"ตอนนั้นปูเข้าใจว่าการทำงานมนุษยธรรมหรืองานอาสาสมัครเป็นแค่การให้ผ้าห่ม มอบข้าว แค่นั้นก็จบ แต่จริง ๆ แล้วการทำงานมนุษยธรรมมันเกินกว่านั้น เพราะชีวิตคนคนหนึ่งมันมีปัญหาซับซ้อนและกว้างใหญ่กว่านั้น สิ่งที่ปูเรียนรู้มีหลายปัญหา อย่างเช่น บางคนไม่มีตัวตน ไม่มีสัญชาติ บางคนไม่สามารถกลับบ้านได้ บางคนไม่ได้รับการศึกษาชั่วชีวิต ซึ่งเขาไม่ได้เลือกนะ เด็กทุกคนที่ปูเจอในค่าย ถ้าถามคำถามว่าสิ่งที่เขาต้องการที่สุดคืออะไร ทุกคนตอบว่าการศึกษาหมดเลย พอเราเข้าใจว่าปัญหามันกว้างและซับซ้อน และเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ปูก็รู้สึกว่าการทำงานมนุษยธรรม นอกจากท้าทายแล้วมันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก"

"ปู ไปรยา" กับหน้าที่ทูตสันถวไมตรี 

เมื่อนางเอกสาวแสดงความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นที่อยากช่วยงาน เธอจึงเริ่มเล่าอธิบายถึงหน้าที่ของเธอเป็นกระบอกเสียงให้สังคมรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับ "ผู้ลี้ภัย"

"สิ่งที่คนไม่เข้าใจคือ ผู้ลี้ภัยไม่ต่างจากเรา ทุกคนเป็นมนุษย์มีความรู้สึกไม่ต่างกัน ทุกคนมีตัวตนที่ไม่แตกต่างจากพวกเรา แต่เขาถูกดึงตัวตนนั้นไปจากเขาทั้งหมด ทั้งทรัพย์สิน ทั้งทุกอย่าง โดยไม่เหลือตัวตน ไม่เหลือทรัพย์สิน ไม่มีบ้านอยู่ ต้องหนีไป ต้องสูญเสียครอบครัวอีก ความจริงแล้วผู้ลี้ภัยเป็นคนที่แกร่ง แต่ไม่มีทางเลือก เขาไม่ได้เลือกที่จะเป็นแบบนี้ เขาไม่ได้เลือกที่จะไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่ได้เลือกที่จะไม่มีที่อยู่"ส่วนหน้าที่หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรี UNHCR  เธอเล่าว่า


"อย่างแรกคือการสื่อให้คนรู้จักปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย อย่างที่สองก็คือรณรงค์ให้กับผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สำหรับคนไร้ตัวตน การจดทะเบียนการเกิดสำหรับเด็กที่เพิ่งเกิดเพื่อที่เขาจะได้มีสิทธิ์ เพราะถ้าไม่มีตัวตนผู้ลี้ภัยจะไม่สามารถหาหมอได้ ไม่สามารถหางานได้ กลับบ้านก็ไม่ได้ และอีกอย่างที่สำคัญคือระดมทุนก็คือการบริจาคให้กับ UNHCR อย่างปูบริจาคทุกเดือนมาแล้ว 3 ปีอย่างต่อเนื่อง คนถามว่าทำไมต้องต่อเนื่อง เพราะว่าปัญหานี้ใช้เวลาขั้นต่ำ 10 ปีในการแก้ไข จำนวนคนเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี UNHCR เป็นองค์กรที่สามารถช่วยผู้ลี้ภัยทั่วโลกได้ และช่วยระหว่างประเทศได้ด้วย"

"ปู ไปรยา" โจลีแดนสยาม 

หลายๆ ครั้งภาพการทำงานสิทธิมนุษยชนเพื่อเพื่อนมนุษย์ของปูก็ชวนทำให้นึกถึง แองเจลีนา โจลี ซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูดที่ทำงานด้านนี้มายาวนาน แล้วปูก็ถูกเปรียบให้เป็น "โจลีเมืองไทย"

"ถ้าจะเปรียบยังเปรียบไม่ได้ เพราะคุณโจลีเขาอุทิศชีวิตเขาเป็น 10 กว่าปี แต่สิ่งที่ปูทำให้คนเห็นคือปูคือมนุษย์ ปูไม่ใช่นางฟ้านะ ปูไม่เคยยอมรับว่าปูไม่เคยล้ม ปูยังมีผิดพลาดอยู่ทุกวัน เพราะปูคือมนุษย์ ปูผิดหวังเหมือนทุก ๆ คน ปูไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ชีวิตได้ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด แต่ปูรู้หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของปูคือการคืนกลับแก่สังคม นั่นก็คือไม่ต่างจากคุณโจลี หน้าที่ที่สำคัญที่สุดก็คือการมีชีวิตที่มีค่าต่อคนอื่น แต่ยังไม่ถึงเขา เขาทำมา 15 ปี 20 ปี เรา 3 ปี แต่ปูทำตลอดชีวิตแน่นอน"

ถามต่อถึงประเด็นคนมีชื่อเสียงทำงานสังคมมักจะถูกมอว่าเป็นการสร้างแม้กระทั่งนักแสดงสาว "ปู ไปรยา" ก็ยังโดนตั้งคำถามนี้ซึ่งเธอก็ไม่ได้รู้สึกโกรธและน้อยใจแต่อย่างไร

"สบายมาก มาร่วมมือกันสร้างภาพ โลกจะได้สวยงามมากขึ้น ไม่เคยโกรธ เพราะเราไม่ควรจะลอยกับคำชมหรือทุกข์กับคำติ เราอยู่ในมุมนี้ ถ้าปูรับมือกับคำติชมไม่ได้เราคงไม่ช่วยผู้ลี้ภัย เพราะผู้ลี้ภัยเป็นสถานภาพที่เราต้องเข้าใจว่ามันมีทั้งความคิดเห็นบวกและลบ อยากจะให้คนมองว่าผู้ลี้ภัยคือมนุษย์และในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่อยู่โลกเดียวกันอย่างสันติภาพ อะไรที่เราสามารถยื่นมือช่วยเขาได้ ถ้าเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ยื่นมือเถอะ เพราะเรามีโอกาส"


ประสบการณ์เปลี่ยนชีวิต

ย้อนกลับไปหลายปีก่อนภาพลักษณ์ของ "ปู ไปรยา" คือสาวเซ็กซี่ แรง และค่อนข้างมีข่าวด้านลบ แต่ภาพดาราสาวที่เห็นในวันนี้ กลับเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งปูบอกว่าเพราะประสบการณ์การทำงานสังคมที่เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนการมองโลกของเธอ

"ปูว่าดาราเป็นกลุ่มคนที่ได้รับโอกาสสูงกว่าคนอื่นในสังคมมาก ปูได้ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่ปูอยู่ 13 แล้ว ปูก็รู้สึกเราเกิดมาเรามีชื่อเสียงเรามีทุกอย่างแต่เรายังไม่มีเป้าหมาย แล้วเราเกิดมาเป็นคนเพื่ออะไร ซึ่งมันมองเป็นมุมที่ค่อนข้างดาร์ก แต่ปูเป็นคนที่ผ่านอะไรมาเยอะมาก  สิ่งที่ปูได้เรียนรู้จากการทำงานสังคมก็คือเราเกิดมาเป็นมนุษย์เพื่ออะไร การประพฤติตัวควรจะเป็นยังไง ในเชิงว่าเราไม่ควรสำคัญตัวเอง สิ่งเดียวที่ปูสำคัญตัวเองตอนนี้ก็คือปูมีกระบอกเสียงที่ดังและจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในหลายหลายวิธี และเราอยู่ในยุคที่สำคัญที่สุดแล้ว ยุคก่อนหน้านี้เป็นยุคที่เกือบสายแล้ว ยุคเราสายแล้วนะ และยุคหลังจากเราสายแน่นอน"


"ไม่ว่าจะในด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ลดโลกร้อน ปัญหาในสังคม การศึกษา ผู้ลี้ภัย เราต้องช่วยกันในยุคนี้ เพื่อที่จะให้รุ่นลูกรุ่นหลานดูเป็นแบบอย่างว่ายุคนี้สามารถทำได้ เราสามารถอยู่โดยมีสันติภาพได้ เราสามารถอนุรักษ์สิ่งที่เรามีอยู่ได้ ปูอยากบอกว่า การทำงานมนุษยธรรมไม่ได้แปลว่าเป็นคนดีนะ แต่แปลว่าเป็นมนุษย์ที่มีศีลธรรม ปูยังเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์มีความรู้สึก มีโกรธ มีทุกอย่าง แต่ปูเข้าใจว่าหน้าที่ของปูในฐานะมนุษย์คืออะไร และก็รู้สึกถึงศีลธรรมของมนุษย์ว่าเราเกิดมาบนโลกนี้เพื่ออะไร เรามีความหมายอะไรและเราทิ้งอะไรไว้ให้กับลูกกับหลาน ถึงเราไม่มีลูกตัวเองก็ไม่เป็นไร เราอาจจะมีลูกเป็นแสน ๆ คนก็ได้ที่เราสามารถมอบโอกาสให้เขา ปูว่าคนทำงานสังคมจะเห็นด้วยตัวเอง หลังจากนั้นเราจะเปลี่ยนทุกอย่างที่เราเข้าใจเกี่ยวกับโลกนี้"

ปัญหา "เพื่อนร่วมโลก" ไม่ใช่ปัญหาไกลตัว

ปู ไปรยา ทิ้งทายเรื่องผู้ลี้ภัยอีกครั้งว่าตอนนี้อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวที่ผู้คนไม่ได้ให้ความสำคัญ และจะรณรงค์เรื่องนี้อย่างไร นักแสดงสาวหรือทูตสันถวไมตรี UNHCR บอกว่า

"ตอนนี้มันดูไกลตัวมาก แต่สงครามเกิดขึ้นในทุก ๆ ปี อย่างเช่น เซาท์ซูดานก็ยังไม่หยุด ซีเรียตอนนี้อยู่ในช่วงวิกฤตที่สุดแล้ว ตอนนี้มันเป็นวิกฤติที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มีคน 65 ล้านคน และมี 34,000 คนในทุก ๆ วันที่กำลังลี้ภัยอยู่ ตัวเลขเพิ่มขึ้นไปทุกวัน ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ปูว่าปัญหาไม่ได้ไกลตัวอย่างที่เราคิด ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดี เพราะเราไม่เคยต้องลี้ภัย นอกจากนั้นเราเป็นประเทศที่ช่วยเหลือประเทศอื่นมาตลอด

และต่างประเทศก็ได้รับรู้ในน้ำใจและความใจดีของเรามาโดยตลอด สิ่งที่เราสามารถช่วยได้ก็คือ เราสามารถศึกษาและเรียนรู้ถึงสถานการณ์ของเขา และคนที่สามารถบริจาคได้ก็อยากให้บริจาค แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นอย่างแรกที่อยากจะเชิญชวนก็คือการศึกษาปัญหาของเขา ศึกษาในสิ่งที่เกิดขึ้นและร่วมมือกันมอบความคิดเห็นว่าในฐานะหนึ่งในประชาชนของโลกนี้ เราเป็นเพื่อนมนุษย์เราเป็นครอบครัวเดียวกัน"

   
   
   


 

ที่มา : news.sanook.com/2169194/

Share |